กฎกระทรวง การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ๒๕๖๔

สารบัญ

 
 หมวด ๒
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้จัดการ
------------------------
      ข้อ ๕ นอกจากอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕๑ และมาตรา ๕๑/๑ ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
      (๑) กำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์เพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
      (๒) จัดให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมของกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาของสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสหกรณ์
      (๓) จัดให้มีนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของสหกรณ์ โดยอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านสินเชื่อ การลงทุน สภาพคล่อง และปฏิบัติการ รวมทั้งจัดให้มีการทบทวนนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ
      (๔) กำกับดูแลฝ่ายจัดการให้จัดการงานของสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
      (๕) จัดให้มีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบกิจการที่มีประสิทธิภาพ
      (๖) กำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการรายงานเรื่องที่สำคัญของสหกรณ์ต่อคณะกรรมการอย่างรวดเร็วและมีกระบวนการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนเพื่อให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
      (๗) กำหนดนโยบายและแผนเกี่ยวกับการฝาก การลงทุน การกู้ยืมจากสหกรณ์อื่นและสถาบันการเงิน และการค้ำประกันเพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์พิจารณาอนุมัติ
      (๘) พิจารณาแต่งตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการต่างๆ ตามความจำเป็น
      (๙) กำกับดูแลสหกรณ์ให้มีการจัดทำและเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสหกรณ์ โดยต้องเปิดเผยให้สมาชิกได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้
      (๑๐) กำกับดูแลสหกรณ์ให้มีการจัดส่งข้อมูลและรายงานต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
      (๑๑) ปฏิบัติตามและกำกับดูแลสหกรณ์ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง  การจัดส่งข้อมูลและรายงานตาม (๑๐) นายทะเบียนสหกรณ์จะกำหนดให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
      ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบการดำเนินการเฉพาะด้าน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์นั้น
      ข้อ ๗ สหกรณ์ที่มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าร้อยละยี่สิบของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองหรือเงินลงทุนมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการลงทุน เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการลงทุนเสนอต่อคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งดูแลและจัดการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการลงทุนดังกล่าว ให้คณะอนุกรรมการการลงทุนตามวรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์นั้น
      ข้อ ๘ สหกรณ์ต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ หรือผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรในด้านดังกล่าวหรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
      สหกรณ์ขนาดเล็กต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิหรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน และสหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิหรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยสามคน
      ข้อ ๙ นอกจากลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๒ แล้ว กรรมการและผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย
      (๑) เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สั่งถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานดังกล่าว เว้นแต่จะพ้นระยะเวลาที่กำหนดห้ามดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว หรือได้รับการยกเว้นจากหน่วยงานกำกับดูแล แล้วแต่กรณี
      (๒) มีหรือเคยมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจการใดๆ อันผิดกฎหมาย ที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นหรือฉ้อโกงประชาชน
      (๓) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
      (๔) เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์อื่น เว้นแต่เป็นกรรมการของชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกอยู่ได้อีกไม่เกินหนึ่งแห่ง
      (๕) เป็นกรรมการของสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์นั้นไม่เกินหนึ่งปี หรือเป็นผู้จัดการสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งกรรมการของสหกรณ์นั้นไม่เกินหนึ่งปี แล้วแต่กรณี
      (๖) ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่าเก้าสิบวันกับนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
      (๗) ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยกับสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกในระยะเวลาสองปีทางบัญชีก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
      ข้อ ๑๐ ให้ผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการและผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ดำเนินการจัดทำหนังสือพร้อมลงลายมือชื่อยื่นต่อสหกรณ์เพื่อรับรองตนเองว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๒ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามกฎกระทรวงนี้ และแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับเลือกตั้งหรือได้รับแต่งตั้ง
      ให้สหกรณ์ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องของบุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่ง หากเห็นว่าเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนให้สหกรณ์แจ้งเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งนั้น
      ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการหรือผู้จัดการ
ให้คณะกรรมการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
      (๑) แจ้งเหตุที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามให้กรรมการรายนั้นทราบเพื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งทันที
      (๒) มีหนังสือแจ้งเหตุในการเลิกจ้างผู้จัดการทันที