ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ คุมหนี้-สภาพคล่องสหกรณ์ออมทรัพย์/เครดิตยูเนี่ยน

------------------------------------------------------------------------------------------
ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่  6 ตุลาคม พ.ศ.2563 อนุมัติหลักการ 5 ฉบับ
--------------------------------------------------------------------

   นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ปี 62 จำนวน 5 ฉบับประกอบด้วย

   1.ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้และให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น กำหนดให้สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภทคือ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 12 งวด

   รวมถึงเงินกู้สามัญเป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกเพื่อใช้จ่าย หรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวด และ เงินกู้พิเศษ มีวัตถุประสงค์ของการกู้เพื่อประกอบอาชีพหรือการเคหะ หรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 360 งวด อายุสูงสุดของผู้กู้ชำระหนี้แล้วเสร็จไม่เกินอายุ 75 ปี เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้สมาชิกต้องส่งข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น

 

   2.ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ก่อหนี้ และสร้างภาระผูกพัน

   รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่เกิน3 ปี กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ ส่วนสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์

   3.ร่างกฎกระทรวงการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้ทั้ง 2 สหกรณ์ มีสภาพคล่องเพียงพอและดำรงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วโดยที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การกำหนดให้สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่า 3% ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท ส่วนชุมนุมสหกรณ์กำหนดไว้ที่ 6%

   4.ร่างกฎกระทรวงการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดชั้นสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้สามารถจัดชั้นการให้เงินกู้และการให้สินเชื่อหรือสินทรัพย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริงและการกันเงินสำรอง เช่น กำหนดให้สหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากต้นเงินคงเหลือสำหรับลูกหนี้จัดชั้นดังนี้ ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ 2% ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน 20% ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย 50% ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญและลูกหนี้จัดชั้นสูญ 100%

   5.ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งเพื่อเป็นการป้องกันการกระจุกตัวความเสี่ยงไม่ให้สูงจนเกินไป เช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้แก่สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงินหรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมถึงการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก

   นอกจากนี้ ยังกำหนดด้วยว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับสหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกิน 25% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง ยกเว้นกรณีสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกิน 50%